เทศกาลตรุษจีนที่จะมาถึงนี้ Wongnai Cooking มาแจก 6 ขนมไหว้เจ้าตรุษจีนไปไหว้กันให้เฮง ๆ รวย ๆ วิธีทำนั้นจะเป็นอย่างไร ? ดูได้ที่นี่เลยจ้า
หนีห่าว! ทักทายกันเป็นภาษาจีนขนาดนี้ไม่ต้องสงสัยเลย เพราะช่วงนี้คือช่วงของเทศกาลตรุษจีน ซึ่งเป็นเทศกาลพบปะสังสรรค์กันระหว่างญาติพี่น้องของชาวไทยเชื้อสายจีนอย่างแท้จริง และขาดไม่ได้เลยสำหรับเทศกาลนี้ก็คือ พิธีไหว้เจ้าเพื่อเสริมความเป็นสิริมงคลให้กับชีวิต หรือเพื่อเป็นการขอบคุณเทพเจ้าที่ดูแลเราในปีที่ผ่านมานั่นเอง ซึ่งนอกจากของคาวแล้ว ของหวานไหว้เจ้าก็ถือว่าสำคัญไม่แพ้กัน วันนี้ Wongnai Cooking จะมาแจก 6 สูตรขนมไหว้เจ้าตรุษจีน เพื่อให้เพื่อน ๆ ได้นำไปไหว้ในเทศกาลตรุษจีนที่จะมาถึงในปีนี้กันค่ะ
โดยขนมที่สำคัญ เรียกว่าขาดไม่ได้เลยมีทั้งหมด 5 อย่าง หรือที่เรียกว่า “โหงวเปี๊ย” อันประกอบไปด้วย ปัง เปี้ย หมี่ มั่ว กี ขออธิบายพอสังเขปว่าแต่ละอย่างเป็นขนมประเภทใดบ้าง ดังนี้ค่ะ
- ปัง คือขนมทึงปัง เป็นขนมที่ทำมาจากน้ำตาล
- เปี๊ย คือขนมหนึ่งเปี๊ย ลักษณะคล้ายขนมไข่
- หมี่ คือขนมหมี่เท้า ทำมาจากแป้งข้าวเจ้าข้างในไส้เต้าซา (ทำมาจากถั่วเขียว หรือ ฟักเชื่อม)
- มั่ว คือขนมทึกกี่ เป็นขนมข้าวพองสีแดงตรงกลางมีไส้เป็นแผ่นบาง
- กี คือขนมทึงกี ทำเป็นชิ้นใหญ่ยาวเวลาจะกินต้องตัดเป็นชิ้นเล็ก ๆ
แต่ในปัจจุบันขนมบางชนิดก็หายาก จึงได้มีการใช้ขนมที่มีลักษณะแบบเดียวกัน หรือคล้ายคลึงกันมาเพื่อทดแทนนั่นเอง วันนี้เลยแถมขนมไหว้เจ้าตรุษจีนเพิ่มมาอีก 1 อย่าง เพื่อน ๆ สามารถเลือกทำและนำไปไหว้ได้ตามที่สะดวกได้เลยนะคะ ไปดูกันดีกว่าว่ามีขนมอะไรกันบ้าง!
1. ขนมเข่ง
“ขนมเข่ง” เป็นขนมที่ประกอบไปด้วยแป้งและน้ำตาล มีเรื่องราวตำนานเกี่ยวกับขนมเข่ง เล่ากันว่า เทพเจ้าจีนซึ่งคอยปกปักรักษามนุษย์ จะต้องขึ้นไปถวายรายงานความดีและความชั่วที่มนุษย์ทุกคนกระทำให้กับองค์เง็กเซียนฮ่องเต้บนสวรรค์ได้รับรู้ ในช่วงก่อนที่จะถึงวันตรุษจีน 4 วัน ก็มักจะมีมนุษย์ที่ไม่ค่อยได้ทำความดี คิดทำขนมเข่งขึ้นมาเพื่อหวังให้ขนมเข่งช่วยปิดปากเทพเจ้าให้ไม่สามารถรายงานความชั่วได้ เพราะขนมเข่งมีลักษณะเหนียวหนืด เมื่อเคี้ยวในปากแล้วจะพูดไม่ถนัด (ขนมนี้ทำจากแป้งกวนกับน้ำตาลทรายแล้วนำไปนึ่งจนสุก) แต่บางตำนานก็ถูกเล่าว่า ขนมเข่งเป็นขนมที่เกิดขึ้นในช่วงที่ชาวจีนอพยพมาเมืองไทย และต้องการเสบียงที่เก็บรักษาได้นานจึงริเริ่มทำขนมเข่งขึ้นมา จนขนมเข่งกลายเป็นขนมสำคัญของคนจีน และเพื่อระลึกถึงช่วงชีวิตที่ยากจน ชาวจีนจึงนำขนมเข่งมาเซ่นไหว้แด่บรรพบุรุษ (ในวันสารทจีน) และเทพเจ้า (ในวันตรุษจีน)
วัตถุดิบ
1. แป้งข้าวเหนียว 1 กิโลกรัม
2. น้ำตาลมะพร้าว ตราบ้านตาลปึก 700 กรัม
3. น้ำสะอาด หรือ น้ำมะพร้าว 1,200 มิลลิลิตร
4. เกลือ เล็กน้อย
วิธีทำ
- ผสมแป้งข้าวเหนียว น้ำตาลมะพร้าว ตราบ้านตาลปึก และน้ำสะอาด หรือน้ำมะพร้าว คนให้เข้ากัน
- เทใส่กระทงใบตองที่ทาน้ำมันเตรียมไว้
- นำลงนึ่งให้สุกเป็นเวลา 40 นาที ใช้ไฟกลางถึงไฟแรง นำออกมาผึ่งให้เย็น แล้วนำจุดแดงมาแต้มให้สวยงาม
2. ขนมเทียน
“ขนมเทียน” ก็ถือเป็นเป็นขนมไหว้เจ้าตรุษจีนอีกชนิดหนึ่ง และเป็นขนมที่มีต้นกำเนิดมาจากการดัดแปลงขนมเข่งเช่นกัน โดยใช้แป้งข้าวเหนียวมากวน และใส่ไส้ถั่วบด ผสมกับเครื่องปรุง จนกลายเป็นไส้เค็ม จากนั้นห่อด้วยใบตองเป็นรูปสามเหลี่ยมเล็ก ๆ คล้ายทรงเจดีย์ แล้วนำไปนึ่งจนสุก
วัตถุดิบ
ส่วนผสมไส้
1. ถั่วเขียวผ่าซีก 1 กิโลกรัม
2. น้ำตาลมะพร้าว ตราบ้านตาลปึก 350 กรัม
3. เกลือ 1 ช้อนโต๊ะ
4. พริกไทยป่น 1½ ช้อนโต๊ะ
5. หอมเจียว 250 กรัม
6. กระเทียมเจียว 250 กรัม
ส่วนผสมแป้ง
1. แป้งข้าวเหนียว 1 กิโลกรัม
2. น้ำตาลมะพร้าว ตราบ้านตาลปึก 700 กรัม
3. หญ้าชิวคัก
วิธีทำ
- นำถั่วเขียวผ่าซีกมาแช่น้ำ และบดให้ละเอียด ปรุงรสด้วยน้ำตาลมะพร้าว ตราบ้านตาลปึก เกลือ เพิ่มความหอมด้วยหอมเจียวและกระเทียมเจียว จากนั้นผัดจนถั่วมีสีเหลืองเข้ม โรยพริกไทย แล้วปั้นเป็นก้อนกลม
- นวดแป้งข้าวเหนียว กับน้ำต้มหญ้าชิวคัก และน้ำตาลมะพร้าว ตราบ้านตาลปึก นวดให้ส่วนผสมเข้ากันดี (ยิ่งนวดยิ่งเหนียว)
- นำแป้งที่นวดไว้มาห่อกับไส้ แล้วห่อด้วยใบตองให้สวยงาม จากนั้นนำไปนึ่งให้สุกประมาณ 1 ชั่วโมง
อ้างอิงสูตรจาก คุณ Supa Su
3. ขนมถ้วยฟู
“ขนมถ้วยฟู” เป็นหนึ่งในขนมมงคลของคนจีน ซึ่งในภาษาจีนแต้จิ๋วเรียกขนมถ้วยฟูว่า “ฮวกก้วย” คำว่า “ฮวก” มีความหมายว่า ขนม ส่วนคำว่า “ก้วย” มีความหมายว่างอกงาม นั่นคือการมีชีวิตที่เจริญงอกงาม เพิ่มพูน เฟื่องฟูนั่นเอง
วัตถุดิบ
1. เอสพี 25 กรัม
2. น้ำตาลทราย 170 กรัม
3. น้ำเปล่า 200 กรัม
4. แป้งเค้ก 250 กรัม
5. ผงฟู 8 กรัม
6. ไข่ไก่ (เบอร์ 1) 2 ฟอง
7. นมข้นหวาน 70 กรัม
8. น้ำมะนาว 15 กรัม
9. กลิ่นมะลิ 3 หยด
10. สีผสมอาหาร ตามชอบ
11. น้ำตาลกรวด ตราบ้านตาลปึก สำหรับตกแต่ง
วัตถุดิบ
- ร่อนแป้งเค้ก และผงฟูเข้าด้วยกัน ใส่น้ำตาลทราย เอสพี ไข่ไก่ กลิ่นมะลิ และน้ำเย็น ตีด้วยความเร็วต่ำเป็นเวลา 1 นาที จากนั้นปรับเป็นความเร็วสูง ตีต่ออีก 10 นาที ใส่น้ำมะนาวลงไป ตีให้พอเข้ากัน ผสมสีให้เข้ากัน
- เทลงพิมพ์ที่เตรียมไว้จบเกือบเต็มพิมพ์ และโรยน้ำตาลกรวดตราบ้านตาลปึกเพื่อให้ขนมแยกตัวชัดเจน
- นำไปนึ่งเป็นเวลา 12-15 นาที จากนั้นยกออกมาพักไว้ให้เย็น
4. ขนมสาลี่
“ขนมสาลี่” หากจะให้นึกถึงขนมมงคลที่เชื่อกันว่า ทำให้ชีวิต รุ่งเรือง เฟื่องฟู เพิ่มพูน ทุกคนย่อมนึกถึง ขนมถ้วยฟู ปุยฝ้าย และสาลี่ อย่างแน่นอน ขนมทั้ง 3 ชนิดนี้ จัดอยู่ในขนมมงคลดั่งที่กล่าวมา และมีกรรมวิธีการทำไม่แตกต่างกันมากนัก สามารถใช้แทนกันได้ โดยเนื้อสัมผัสของขนมสาลี่นั้นเป็นลักษณะของเค้กฟองน้ำเช่นเดียวกันกับขนมปุยฝ้าย แต่มีความร่วนน้อยกว่า
วัตถุดิบ
1. ไข่เป็ด 4 ฟอง
2. น้ำตาลกรวดแบบละเอียด ตราบ้านตาลปึก 1 ถ้วย
3. น้ำมะนาว 2 ช้อนชา
4. สีผสมอาหารสีชมพู 3-4 หยด
5. เกลือ ⅛ ช้อนชา
6. แป้งเค้ก 1½ ถ้วย
7. น้ำลอยดอกมะลิ 2 ช้อนโต๊ะ
8. กลิ่นมะลิ ¾ ช้อนชา
9. ผลไม้แห้ง สำหรับโรยหน้า
วิธีทำ
- ตีไข่ด้วยความเร็วสูงประมาณ 15 นาที หรือจนไข่ขึ้นฟู ทยอยใส่น้ำตาลกรวดละเอียด ตราบ้านตาลปึก เรื่อย ๆ ตีจนน้ำตาลละลาย ไข่เปลี่ยนเป็นสีขาวนวล ใส่น้ำมะนาวและสีผสมอาหาร คนให้เข้ากัน
- ใส่แป้งเค้กผสมกับเกลือที่ร่อนแล้วสลับกับน้ำลอยดอกมะลิ โดยเริ่มจากแป้งและจบที่แป้ง ค่อยตะล่อมให้ส่วนผสมเข้ากันดี
- เทส่วนผสมลงพิมพ์ที่รองด้วยกระดาษไข เกลี่ยหน้าขนมให้เท่ากัน โรยผลไม้แห้ง แล้วนำไปนึ่งที่ไฟแรงน้ำเดือดจัดเป็นเวลา 10 นาที ลดไฟเป็นไฟกลาง นึ่งต่อเป็นเวลา 10-15 นาที จากนั้นเช็กความสุก แล้วยกขึ้นออกจากเตาเป็นอันเสร็จเรียบร้อย
5. ซาลาเปา
“ซาลาเปา หรือหมั่นโถว” เป็นของไหว้มงคลที่สำคัญอย่างหนึ่ง ซึ่งมีความหมายอันเป็นมงคลเกิดจากการเล่นคำ คำว่า “เปา” ภาษาจีนแปลว่า ห่อ ไหว้ซาลาเปา หมายถึงการห่อเงินห่อทองมาให้ลูกหลาน
วัตถุดิบ
ส่วนผสมแป้ง
1. แป้งบัวแดง 400 กรัม
2. น้ำตาลทราย 100 กรัม
3. ผงฟู 1 ช้อนชา
4. ยีสต์ 1 ช้อนชา
5. น้ำมันพืช
6. น้ำเย็นจัด 60 มิลลิลิตร
ส่วนผสมไส้
1. หมูสับ 3 ขีด
2. น้ำตาลกรวดละเอียด ตราบ้านตาลปึก 2 ช้อนโต๊ะ
3. รากผักชี 3 ราก
4. พริกไทย 2 ช้อนชา
5. เกลือ ½ ช้อนชา
6. กระเทียมสับ 2 ช้อนชา
7. ซอสปรุงรส 2 ช้อนชา
8. กระดาษไข
วิธีทำ
- นำส่วนผสมส่วนไส้คลุกเคล้าให้เข้ากัน แล้วพักไว้
- นำแป้งสาลีร่อน ละลายยีสต์ไว้กับน้ำอุ่นในแก้วประมาณ 5 นาที แล้วนำยีสต์ลงไปในแป้งที่เตรียมไว้ ตามด้วยน้ำตาล เกลือ และผงฟู คลุกเคล้าให้เข้ากัน ค่อย ๆ เติมน้ำเย็น จากนั้นนวดไป 20 นาที แล้วพักแป้งทิ้งไว้ 30 นาที
- เมื่อครบเวลาแล้ว เติมน้ำมันพืช นวดไปอีก 20 นาที แล้วตัดแป้ง เป็นก้อนขนาดเท่า ๆ กัน นำมาห่อกับหมูสับที่เพิ่มความกลมกล่อมด้วยน้ำตาลกรวดละเอียด ตราบ้านตาลปึก แล้วนำไปนึ่งให้สุก
6. จับกิ้ม
“กวยแฉะ” หรือ ฟักเชื่อม หมายถึงฟักเงินฟักทอง คือมีเงินทองร่ำรวย นอกจากนี้ฟักเชื่อมยังหมายถึงการฟักความหวานให้ชีวิต นั่นคือการสร้างให้ชีวิตมีความสุขนั่นเอง กวยแฉะเป็นหนึ่งใน “ขนมจับกิ้ม” 什锦 หรือที่คนไทย เรียกว่า “ขนมจันอับ” ใช้ไหว้เจ้าได้ทุกประเภท นิยมใช้ในงานมงคลทุกงาน ประกอบด้วยขนม 5 อย่าง ได้แก่
- เต่าหยิ่งปัง หรือ ขนมถั่วตัด
- มั่วปัง หรือ ขนมงาตัด
- ซกซา หรือ ถั่วเคลือบน้ำตาล
- กวยแฉะ หรือ ฟักเชื่อม
- โงวจั่งปัง หรือ ขนมข้าวพอง
ปีนี้เรามาทำให้ขนมจับกิ้มพิเศษขึ้นอีก ด้วย “กวยแฉะทับทิม” ฟักเชื่อมอัญมณีสุดล้ำค่า ให้ชีวิตหวานฉ่ำและรุ่งเรืองกันค่ะ
วัตถุดิบ
1. ฟักเขียวแก่จัด 1 กิโลกรัม
2. น้ำตาลกรวดไม่ขัดสี ตราบ้านตาลปึก 370 กรัม
3. น้ำ 750 กรัม
วิธีทำ
- ใส่น้ำตาลกรวดไม่ขัดสี ตราบ้านตาลปึก ตั้งไฟให้เดือด เทฟักลงไป การเชื่อมทุกชนิดต้องใช้ไฟกลางและลดไฟอ่อนลง
- หมั่นตักน้ำเชื่อมราดชิ้นฟักเรื่อย ๆ จนน้ำตาลเหนียวข้น
- แล้วนำไปตากจนผิวนอกแห้ง
เป็นอย่างไรกันบ้างคะเพื่อน ๆ? สำหรับ 6 สูตรขนมไหว้เจ้าตรุษจีนซึ่งเพื่อน ๆ สามารถทำตามได้ ไม่ว่าจะไหว้เองที่บ้านเพื่อเป็นการเสริมสิริมงคล หรือทำขายเพื่อหารายได้ก็เป็นไอเดียที่ดีไม่น้อย เพียงเท่านี้เราก็มีขนมไหว้เจ้าตรุษจีนกันแล้ว ก็ต้องขอบคุณวัตถุดิบที่ขาดไม่ได้เลยอย่าง ผลิตภัณฑ์จากบ้านตาลปึก ไม่ว่าจะเป็นน้ำตาลมะพร้าว น้ำตาลกรวดละเอียด หรือน้ำตาลกรวดไม่ขัดสี ที่ทำให้เราได้มีสูตรขนมมงคล เพื่อเสริมสิริมงคลของพวกเรา อย่างไรก็ตาม พิธีกรรมต่าง ๆ ในปัจจุบันก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคตามสมัย และมีความแตกต่างกันไปในแต่ละบ้าน ทั้งนี้เราสามารถเพิ่มลดได้ตามกำลังและความสะดวกของแต่ละบ้าน และก่อนจากกันไปเราถือโอกาสนี้กล่าวคำว่า “ซินเจียยู่อี่ ซินนี้ฮวดไช้” ( 新正如意 新年发财 ) ปีใหม่นี้ คิดสิ่งใดขอให้สมหวังสมปรารถนา มีแต่ความสุขมั่งคั่ง ร่ำรวย ๆ ตลอดปีนะคะ!